ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
การอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ในปี 2565 บริษัทตระหนักถึงความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม แม้ว่าบริษัทประกอบธุรกิจที่ให้บริการด้านการเงินแต่มีความมุ่งมั่นดูแลและ รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากองค์กรเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ยังคงต้องให้ความช่วยเหลือดูแลซึ่งกันและกัน เพื่อให้ชุมชนหรือสังคมมีสภาพแวดล้อมที่ดี ทั้งนี้ บริษัทได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับความปลอดภัย ชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและพนักงานทุกคนตระหนักถึงหน้าที่และความผิดชอบ รวมถึงความร่วมมือกันในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าว ซึ่งรายละเอียดของนโยบายฯ ปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของบริษัท www.ifscapthai.com ภายใต้หัวข้อ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี”
ไฟล์ดาวน์โหลด
นโยบายความปลอดภัย สุขอนามัย และสิ่งแวดล้อม
ดาวน์โหลดผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
คาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO)
สืบเนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์จากการใช้พลังงาน การผลิตสินค้าและบริการ การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นปัญหาสำคัญระดับสากลที่ทุกคนและทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีภาครัฐให้การส่งเสริมอย่างจริงใจในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของประเทศไทยที่จะลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ร้อยละ 20-25 จากกรณีดำเนินการตามปกติภายในปี 2573

จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แนวคิดการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) เป็นวิธีการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กรและคำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จึงรวบรวมข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้ง ทางตรงและทางอ้อม เพื่อประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรและนำไปใช้ประกอบการพิจารณาหาแนวทางการลด การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรายงานผลการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ตามข้อกำหนดในการคำนวณและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหน่วยงานขึ้นทะเบียนและให้การรับรองข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

ในปี 2565 บริษัทจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเป็นปีแรก ซึ่งกำหนดขอบเขตขององค์กรในการจัดหาบัญชีรายการก๊าซเรือนกระจกแบบควบคุมการดำเนินงาน (Operational Control) โดยพิจารณาจากกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรในปี 2564 จากแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 1 และ 2 (Scope 1 & 2) และแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกประเภทที่ 3 (Scope 3) โดยใช้แนวทางการทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร โดย อบก. เป็นเกณฑ์ในการทวนสอบ ซึ่งรายงานดังกล่าวได้รับการตรวจสอบความถูกต้องและความน่าเชื่อถือของข้อมูลจากการขอรับการทวนสอบและรับรองผลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จากผู้ทวนสอบภายนอก บริษัท อีซีอีอี จำกัด
ทั้งนี้ บริษัทยังไม่มีข้อมูลปีฐานเพื่อใช้ในการอ้างอิงและเปรียบเทียบ เนื่องจากบริษัทได้จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรเป็นปีแรก
ตารางผลการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ปี 2564
ขอบเขต | การปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร (Ton CO2e) | % สัดส่วน |
---|---|---|
ประเภท 1 | 48 | 33 |
ประเภท 2 | 81 | 56 |
ประเภท 3 | 16 | 11 |
รวม (ประเภท 1+2) | 129 | 89 |
รวม (ประเภท 1+2+3) | 145 | 100 |
ทั้งนี้ ผลการประเมินการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์สำหรับองค์กรข้างต้น พบว่า แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุดขององค์กร มาจากประเภทที่ 2 (Scope 2) ซึ่งเกิดจากการใช้ไฟฟ้าภายในสำนักงาน คิดเป็นร้อยละ 56 ของแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ส่วนปริมาณรวมค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของขอบเขตประเภทที่ 1 และ 2 เท่ากับ 129 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Ton CO2e) โดยในปีถัดไป บริษัทจะดำเนินการจัดทำรายงานเพื่อประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เพื่อนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับรายงานในปีก่อน และวางแผนบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป