ประเด็นด้านเศรษฐกิจ | IFS Capital (Thailand)
  • การเติบโตอย่างยั่งยืน
  • การบริหารความเสี่ยง
  • การพัฒนาเชิง Digital
  • ผลตอบแทนและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย
  • การกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณ และจริยธรรม
  • การดำเนินงานในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19
การเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัทไม่เพียงแต่มุ่งเน้นที่ผลกำไรและการเติบโต แต่ยังคำนึงถึงการสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า โดยบริษัทให้ความสำคัญในด้านการบริหารจัดการและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า บริษัทได้จัดให้มีการประเมินความพึงพอใจของลูกค้าและรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะของลูกค้าผ่านช่องทางต่างๆ ที่หลากหลาย รวมทั้งมีการวิเคราะห์และศึกษาพฤติกรรมลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงความต้องการและความคาดหวังของลูกค้าในแต่ละภาคธุรกิจ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการดำเนินงานในแต่ละปี เพื่อคิดค้นและสร้างโอกาสในธุรกิจและบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายฐานการสร้างรายได้ของบริษัท รวมถึงเพื่อขยายขอบเขตการให้บริการทางการเงินของเราเพื่อช่วยและสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของประเทศไทยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเป็นผู้นำธุรกิจสินเชื่อแฟคเตอริ่งในประเทศไทย

ในช่วงที่เกิดโรคระบาด COVID-19 บริษัทได้มีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าบางรายที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อลิสซิ่ง เพื่อช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถบริหารกระแสเงินสดได้ดีขึ้น

การบริหารความเสี่ยง

บริษัทให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยง โดยจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร มีการกำหนดนโยบายและกำหนดขอบเขต ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) กำหนดยุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ และมีผู้ดูแลรับผิดชอบในทุกด้าน ได้แก่ ความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ ความเสี่ยงด้านดิจิทัล และความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ โดยกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบและสายการรายงานอย่างชัดเจนและเป็นอิสระ โดยมีคณะกรรมการบริษัทกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานสอดคล้องกับหลักการควบคุมภายในที่ดี

นอกจากนี้ บริษัทตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยได้นำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental Social and Governance or ESG) มาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อและการบริหารงาน บริษัทจะหลีกเลี่ยงการพิจารณาให้สินเชื่อแก่บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ผิดกฎหมายต่างๆ รวมถึงที่ผิดกฎหมายการ ต่อต้านการฟอกเงิน เช่น การค้ายาเสพติด การใช้แรงงานเด็ก การค้าอาวุธ การพนัน การสนับสนุนอาชญากรรม การฉ้อโกง การทุจริต และการค้าประเวณี เป็นต้น บริษัทยังได้กำหนดแนวทางการพิจารณาสินเชื่อสำหรับอุตสาหกรรมเฉพาะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ถูกกฎหมาย และสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

การพัฒนาเชิง Digital

บริษัทตระหนักถึงความจำเป็นในการก้าวให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปทั่วโลก โดยสำรวจหาเทคโนโลยีที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพงานให้มากยิ่งขึ้น โดยตั้งเป้าหมายที่จะเริ่มโครงการเพื่อทำให้การดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทเป็นระบบดิจิทัลภายในปี 2564

บริษัทจะมุ่งเน้นการทำธุรกิจผ่านทาง Digital Factoring Platform เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้า SMEs ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยให้ SMEs ที่เป็นรายย่อยได้รับเงินทุนโดยใช้ใบแจ้งหนี้ดิจิทัล ปัจจุบันบริษัทกำลังศึกษาและดำเนินการเพื่อให้เป็นรูปธรรมในปี 2564

การกำกับดูแลกิจการ จรรยาบรรณ และจริยธรรม

การกำกับดูแลกิจการเป็นองค์ประกอบของความยั่งยืน กลุ่มบริษัทไอเอฟเอสประสบความสำเร็จในการผลักดันระบบการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ (e-learning portal) ทั่วทั้งกลุ่ม ด้วยการเรียนรู้ด้วยระบบดังกล่าวบริษัทมีความมั่นใจว่าพนักงานของเราได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้องและมีความเข้าใจในแง่ของมาตรฐานและความคาดหวังในการปฏิบัติตาม ในปี 2563 พนักงานของไอเอฟเอสร้อยละ 100 สำเร็จการฝึกอบรมออนไลน์ในหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศและการป้องกันการทุจริตภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรค COVID-19 รวมถึงการออกมาตรการในการป้องกันและควบคุมดังกล่าว บริษัทคาดหวังที่จะจัดให้มีหลักสูตรในการฝึกอบรมการเรียนรู้เพิ่มเติมอย่างสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ คณะกรรมการบริษัทมีความเชื่อมั่นว่าการดำเนินการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีในการดำเนินธุรกิจจะส่งผลให้ทุกภาคส่วนของบริษัทจะมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน สามารถสร้างผลตอบแทนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ถือหุ้น และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่อง

ผลตอบแทนและผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้เสีย

ผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนล้วนมีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท ทำให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องและเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจมีความเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ดังนั้น การสานสัมพันธ์ผู้มีส่วนได้เสีย (ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ธนาคาร ฯลฯ) ถือได้ว่าเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการขององค์กร เพื่อให้ทราบถึงความคาดหวัง ความสนใจ หรือข้อกังวล ตลอดจนคำแนะนำต่างๆ ที่มาจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียสำคัญทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านั้นเป็นข้อมูลสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนากระบวนการผลิตภัณฑ์และบริการให้สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องได้อย่างตรงจุด รวมถึงพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนให้เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทคาดหวังที่จะดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรต่อเนื่องทุกปี และสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้ตามนโนบายอย่างต่อเนื่อง

การดำเนินงานในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19

บริษัทมีแผนบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (BCP) เพื่อไม่ให้การทำธุรกิจกับลูกค้าเกิดการหยุดชะงัก โดยจัดให้มีหน่วยงานแยกต่างหากเพื่อรองรับหากมีพนักงานติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีแผนให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (WFH) เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงให้กับพนักงานที่ต้องเดินทางมาปฏิบัติงานที่บริษัทในระหว่างการแพร่ระบาดของโรค COVID-19