สารจากประธานกรรมการ | IFS Capital (Thailand)

เรียน ท่านผู้ถือหุ้นที่เคารพ

ในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ายังมีการเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทาย และแรงกดดันต่างๆ ทั้งในเรื่องของการปรับราคาพลังงานที่สูงขึ้น การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงปัญหาห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่องสืบเนื่องจากมรสุมโควิด 19 บริษัทยังสามารถทำผลงานได้เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่งในปี 2565

บริษัทมีปริมาณการให้สินเชื่อแฟคเตอริ่งเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 32,206 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกันกับ ปริมาณสินเชื่อประเภทอื่น (สินเชื่อลีสซิ่ง สินเชื่อเช่าซื้อ และเงินให้กู้ยืมค่าซื้อสินค้า) ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 25 ส่งผลให้บริษัทมีรายได้รวมจำนวน 421 ล้านบาทในปี 2565 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น 3 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 7 ล้านบาท เนื่องจากมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี รวมถึงค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่เพิ่มขึ้น 22 ล้านบาทแล้ว บริษัทมีกำไรสุทธิหลังหักภาษีจำนวน 156.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีกำไรเบ็ดเสร็จรวมสำหรับปีจำนวน 161.10 ล้านบาท ในปี 2565

นายแรนดี้ ซิม เชง เหลียง

คณะกรรมการบริษัทมีความยินดีในการเสนอให้จ่ายเงินปันผลในอัตรา 0.1633 บาทต่อหุ้น หรือ 16.33 สตางค์ต่อหุ้น สำหรับปี 2565 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 80.59 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลร้อยละ 51.36 ของกำไรสุทธิ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการจ่ายเงินปันผลของบริษัทที่กำหนดให้บริษัทจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิหลังการจัดสรรสำรองตามกฎหมาย ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวจะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 18 เมษายน 2566

สำหรับปี 2566 เราคาดว่าจะยังคงมีความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อาทิ ความกังวลที่อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักของโลกที่ยังคงดำเนินอยู่ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงเหล่านี้อาจลดทอนลงได้หากการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยเป็นไปตามที่คาดไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 3.0 ถึง 4.0 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การลงทุนภาครัฐและเอกชนที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เรายังมีความเชื่อมั่นที่จะเติบโตภายใต้ปัจจัยดังกล่าวอย่างระมัดระวัง เรามีแผนที่จะลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และจะเติบโตในธุรกิจหลักทั้งการให้สินเชื่อแฟคเตอริ่งและการให้สินเชื่อเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้วยความรอบคอบ รัดกุม และมีวินัยในการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ เรายังตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาธุรกิจสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ (Supply Chain Financing) ตลอดจนขยายธุรกิจด้านสินเชื่อแฟคเตอริ่งระหว่างประเทศ ในขณะเดียวกัน เรายังคงแสวงหาโอกาสหรือแนวทางใหม่ ๆ เพื่อยกระดับการให้บริการที่ดียิ่งขึ้นแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของไทยอย่างต่อเนื่อง

ไอเอฟเอสมุ่งมั่นที่จะสร้างการเติบโตให้เป็นไปอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราผ่านวาระด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) โดยในปี 2565 เราได้จัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และจะมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและความพร้อมของบริษัท นอกจากนี้ เรายังเตรียมการเพื่อต่ออายุการรับรองการเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) เรามุ่งมั่นที่จะเป็นพลังเพื่อสังคมและสนับสนุนสังคมที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ในนามของคณะกรรมการบริษัท ผมขอแสดงความขอบคุณจากใจจริงต่อคุณสิงหะ นิกรพันธุ์ ซึ่งได้ครบวาระการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการตรวจสอบ และกรรมการอิสระในเดือนพฤษภาคม 2565 สำหรับความทุ่มเทและการช่วยเหลืองานให้กับคณะกรรมการมายาวนานกว่า 9 ปี และผมขอถือโอกาสนี้ต้อนรับคุณสุธีร์ โล้วโสภณกุล ที่ได้รับเลือกให้เป็นกรรมการของบริษัท

บริษัทขอขอบคุณผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า ธนาคาร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนฝ่ายบริหารและพนักงานของเราทุกคนสำหรับความมุ่งมั่นทุ่มเทที่มีต่อบริษัท เรายินดีที่จะกลับมารายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินงานของเราให้ท่านทราบในโอกาสถัดไป

ขอแสดงความนับถือ

นายแรนดี้ ซิม เชง เหลียง

นายแรนดี้ ซิม เชง เหลียง
   ประธานกรรมการ
 17 กุมภาพันธ์ 2566