เงินก้อน เงินหมุน และ แฟคเตอริ่ง เงินทุนแบบใดเหมาะกับธุรกิจ SMEs ? | IFS Capital (Thailand)
09 Aug 2023
Business Tips

เงินก้อน เงินหมุน และ แฟคเตอริ่ง เงินทุนแบบใดเหมาะกับธุรกิจ SMEs ?

เมื่อพูดถึงการเริ่มต้นธุรกิจเล็กๆ ในครอบครัวหรือร้านค้าขนาดเล็ก ก่อนจะกลายเป็นธุรกิจ คำถามที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มต้นและต้องการขยายธุรกิจคือ เรื่องของทุนหมุนเวียน (Working Capital) ที่เป็นหัวใจสำคัญและมีบทบาทในการสนับสนุนและเสริมสร้างธุรกิจให้เติบโต หากกิจการมีทุนหมุนเวียนเพียงพอก็จะสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น กลับกันหากทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอจะส่งผลต่อสภาพคล่องของธุรกิจ ดังนั้นบทความนี้จะอธิบายเกี่ยวกับทุนหมุนเวียนและเงินทุนแบบใดที่ตอบโจทย์ธุรกิจของท่าน

“ทุนหมุนเวียน” สำหรับธุรกิจ SMEs

ทุนหมุนเวียน (Working Capital) คือเงินทุนที่ใช้สำหรับบริหารธุรกิจประจำวัน ช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น ทุนหมุนเวียนสามารถใช้ในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ การจ้างงาน การส่งเสริมการตลาด หรือการจัดซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มเติม หากมีเงินทุนหมุนเวียนมากแสดงว่ากิจการมีความมั่นคงเพราะมีเงินทุนสนับสนุน แม้จะพบกับวิกฤตเศรษฐกิจกิจการก็ยังมีแนวโน้มที่จะสามารถดำเนินงานต่อได้ กลับกันหากมีทุนหมุนเวียนในกิจการน้อย จะส่งผลให้ธุรกิจเสี่ยงต่อการขาดสภาพคล่องและเกิดปัญหาการค้างชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงสูญเสียความน่าเชื่อถือจากคู่ค้า ดังนั้นผู้ประกอบการมักจะใช้สินเชื่อจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ เพื่อสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ โดยหลักๆ จะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ เงินก้อน (Loan) และเงินหมุน (OD)

สินเชื่อเงินกู้ หรือ“เงินก้อน” (Loan)

สินเชื่อธุรกิจแบบเงินก้อน มักเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจน ทั้งจำนวนเงินที่กู้ยืม อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อนชำระ และเงื่อนไขอื่น ๆ โดยทั่วไป ธนาคารและสถาบันการเงินจะกำหนดเงื่อนไขการกู้ยืมเหล่านี้ แตกต่างกันไปในแต่ละธุรกิจ

เงินก้อนมีข้อดีที่สำคัญสำหรับธุรกิจ SMEs อย่างไร ?

  • สามารถขออัตราดอกเบี้ยคงที่ เพื่อช่วยให้วางแผนการเงินได้ง่ายขึ้น
  • การผ่อนชำระสินเชื่อที่มักจะเท่าๆ กันทุกงวด และสามารถวางแผนการชำระล่วงหน้าได้
  • สามารถใช้เงินกู้ได้ตามต้องการเพื่อเติมทุนหมุนเวียน เช่น ซื้อวัสดุอุปกรณ์ วัตถุดิบ หรือขยายกิจการ เป็นต้น

ข้อที่ควรเข้าใจ

  • มักใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงิน
  • การขอสินเชื่อแบบ “เงินก้อน” อาจมีค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าการกู้ยืมแบบอื่น
  • สินเชื่อระยะยาว มีความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าระยะสั้น

สินเชื่อเงินเบิกเกินบัญชี หรือ “เงินหมุน” (OD)

สินเชื่อธุรกิจแบบเงินหมุน มักเป็นสินเชื่อระยะสั้นที่ให้บริการกับธุรกิจที่ต้องการใช้เงินสดบ่อยและมีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง โดยทั่วไปสถาบันการเงินจะกำหนดวงเงินอนุมัติให้กับกิจการ ตามเครดิตของผู้กู้และหลักทรัพย์ที่ค้ำประกัน โดยกิจการสามารถเบิกถอนเงินได้ตามต้องการภายในวงเงินที่กำหนดไว้ และมักคิดค่าใช้จ่ายหรือดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน

เงินหมุนมีข้อดีต่อธุรกิจ SMEs อย่างไร ?

  • สามารถเบิกถอนเงินได้ตามความต้องการของธุรกิจ
  • จ่ายดอกเบี้ยเฉพาะวงเงินที่ใช้งานเท่านั้น
  • ช่วยให้กิจการสามารถจัดการกระแสเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยืดหยุ่นในการบริหารเงินของกิจการ
  • เหมาะสำหรับกรณีต้องการใช้เงินสดล่วงหน้าเพื่อซื้อวัตถุดิบหรืออื่นๆ และกรณีฉุกเฉิน

สิ่งที่ควรเข้าใจ

  • มักใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันวงเงิน
  • วงเงิน OD มีอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง

การซื้อขายหนี้การค้า “แฟคเตอริ่ง (Factoring หรือ Account Receivables Purchase)”

เป็นการขายลูกหนี้การค้าให้กับผู้ให้บริการทางการเงินที่เรียกว่า Factor โดย Factor จะรับซื้อลูกหนี้ของกิจการ โดยใช้เพียงเอกสารการค้า เช่น ใบแจ้งหนี้, ใบวางบิล, ใบส่งของ และอื่นๆ ประกอบการกู้ยืมเงิน โดย Factor จะจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับท่านตามตกลง และรับผิดชอบในการเรียกเก็บหนี้ที่ค้างชำระจากลูกหนี้การค้าแทนกิจการ ดังนั้นกิจการจะได้รับเงินสดเพื่อหมุนเวียนในธุรกิจและไม่ต้องกังวลเรื่องการเรียกเก็บเงินจากลูกหนี้การค้า เนื่องจาก Factor จะดูแลการเก็บหนี้แทน

การใช้ Factoring มีประโยชน์สำหรับธุรกิจ SMEs ดังนี้

  • สามารถรับเงินได้รวดเร็ว ทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้โดยไม่ต้องรอการชำระหนี้จากลูกค้า
  • ไม่ต้องหาหลักทรัพย์มาค้ำประกันวงเงิน
  • สามารถวางแผนและบริหารเงินในกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อที่ควรเข้าใจ

  • การกำหนดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม จะแตกต่างกันไปตามแต่ละผู้ให้บริการ
  • การพิจารณาวงเงินมักพิจารณาตามเครดิตของผู้ขอสินเชื่อและลูกหนี้การค้าประกอบกัน

สรุป

เงินก้อน (Loan) เงินหมุน (OD) และแฟคเตอริ่ง (Factoring) ล้วนเป็นทางเลือกสำหรับหมุนเวียนในธุรกิจ SMEs ผู้ประกอบการสามารถใช้เงินก้อนเพื่อเพิ่มทุนหมุนเวียนและขยายกิจการ ส่วนเงินหมุนสามารถช่วยให้ธุรกิจเบิกถอนเงินสดได้ทันทีที่ต้องการใช้ รวมถึงในกรณีฉุกเฉิน ในขณะที่ “แฟคเตอริ่ง” เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คล่องตัวและรวดเร็วในการจัดหาเงินทุน โดยใช้เพียงเอกสารการค้าประกอบการกู้ยืม และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน