Search
Close this search box.

แนะนำวิธีการบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารลูกหนี้การค้าคืออะไร

ในยุคปัจจุบันที่ภาวะการแข่งขันทางการตลาดสูง การขายสินค้าเป็นเงินสดเพียงอย่างเดียวอาจทำให้ไม่ได้รายได้เท่าที่ควร หรือไม่สามารถสู้กับคู่แข่งได้ การขายสินค้าในรูปแบบของการขายเชื่อ หรือบริการเชื่อ จึงเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง และธุรกิจ SME

เราเรียกผู้ขายสินค้า หรือให้บริการในลักษณะนี้ว่า “ผู้ขาย” และเรียกผู้ซื้อสินค้าที่ได้รับเครดิตจากผู้ขายว่า “ลูกหนี้การค้า” (Account Receivable) โดยการขายสินค้าในรูปแบบเชื่อนั้น จะมีการให้ระยะเวลาการชำระเงิน หรือที่เรียกว่า “เครดิตเทอม” (Credit term) ซึ่งโดยทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 45-90 วัน

ถ้าหากเรามีลูกหนี้การค้าหลายราย และไม่มีการบริหารลูกหนี้การค้าที่ดีพอ จะทำให้ผู้ขายต้องสำรองเงินไว้เป็นเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่อง และนำไปสู่การเลิกกิจการได้ในที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ ไอเอฟเอส แคปปิตอล (IFS Capital) มีคำแนะนำในการบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพมาฝาก ผู้ประกอบการสามารถนำไปปรับใช้ดูได้เลย!

การบริหารลูกหนี้การค้าคืออะไร

การบริหารลูกหนี้การค้า คือการบริหารดูแลจัดการลูกหนี้การค้าให้จ่ายเงินค่าสินค้ากับเราให้ตรงเวลาที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งลูกหนี้การค้าในที่นี้จะหมายถึง ลูกหนี้ที่เกิดจากการดำเนินการค้าขายตามปกติของธุรกิจในรูปแบบของการขายเชื่อ หรือบริการเชื่อที่เป็นรายได้หลักของกิจการ

วิธีการบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

การบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ หลาย ๆ ฝ่ายจะต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าของกิจการ พนักงานขาย พนักงานบัญชีและการเงิน รวมถึงฝ่ายกฎหมาย ที่จะต้องบันทึก จัดเก็บข้อมูล ติดตาม และเร่งรัดลูกหนี้การค้า และปรับเปลี่ยนวิธีรับมือไปตามสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้การค้าค้างชำระหนี้จนเกิดเป็นหนี้เสีย และกลายเป็นหนี้สูญในที่สุด โดยวิธีการบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ มีดังนี้

การบริหารลูกหนี้การค้าด้วยการให้ส่วนลด

1. การให้ส่วนลด

การให้ส่วนลดเป็นหนึ่งในวิธีการบริหารลูกหนี้การค้าที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะจะช่วยจูงใจให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินตรงเวลา ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขายยื่นข้อเสนอพิเศษให้ลูกหนี้การค้าว่า ถ้าจ่ายเงินทันที หรือจ่ายก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะมอบส่วนลดให้ โดยจะให้ส่วนลดเป็นเปอร์เซ็นต์ หรือกำหนดตัวเลขชัดเจนเลยก็ได้ เป็นต้น

2. การแบ่งจ่าย หรือผ่อนชำระ

สำหรับใครที่กังวลว่าลูกหนี้การค้าจะไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายไหว เพราะต้องจ่ายเป็นเงินก้อนใหญ่เกินไป คุณก็สามารถยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้การค้าชำระเงินแบบแบ่งจ่าย หรือผ่อนชำระก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ให้เครดิตเทอมลูกค้า 90 วัน หรือ 3 เดือน คุณก็สามารถเพิ่มเงื่อนไขแบ่งจ่ายโดยการผ่อนชำระเท่า ๆ กัน ทุก ๆ 30 วันก็ได้

3. เรียกเก็บเงินมัดจำ หรือเงินประกันความเสียหาย

การเรียกเก็บเงินมัดจำ หรือเงินประกันความเสียหาย เป็นอีกหนึ่งวิธีการบริหารลูกหนี้การค้าที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป เพราะสามารถการันตีได้ว่าลูกหนี้การค้าจ่ายส่วนหนึ่งมาให้แล้ว และจ่ายส่วนที่เหลือตามมา ไม่ให้เกิดหนี้สูญในอนาคต โดยเราอาจเรียกเก็บเป็นเงินมัดจำ หรือเงินประกันความเสียหายก็ได้

 

การบริหารลูกหนี้การค้าด้วยการปรับเครดิตเทอมให้สั้นลง

4. ปรับเครดิตเทอมให้สั้นลง

การปรับเครดิตเทอมให้สั้นลงก็เป็นอีกหนึ่งเทคนิคการบริหารลูกหนี้การค้าที่ช่วยให้คุณไม่ต้องแบกรับภาระเงินทุนหมุนเวียนนานเกินไปนัก โดยอาจปรับให้สั้นลงเหลือ 60 วัน หรือ 30 วันก็ได้ อย่างไรก็ตาม การปรับเครดิตเทอมให้สั้นลงจะต้องดูธุรกิจของลูกค้าและงบประมาณการเงินของบริษัทด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ และการที่เราให้เครดิตเทอมที่สั้นลงก็อาจทำให้สู้คู่แข่งที่อยู่ในท้องตลาดไม่ได้

5. วางระบบเร่งรัดติดตามหนี้ค้างชำระให้ดี

เป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยในการบริหารลูกหนี้การค้า ถ้าคุณทำธุรกิจในรูปแบบของการให้เครดิตก็ควรที่จะจัดตั้งทีมสำหรับเร่งรัดติดตามหนี้การค้าและวางระบบการทวงถามหนี้ให้ดี ไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้อีกมากมาย และเกิดเป็นปัญหาหนี้เสีย หรือหนี้สูญตามมา เช่น จัดตั้งทีมโทรทวงถามหนี้เมื่อถึงวันและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งนับเป็นหนึ่งในการกระตุ้นเชิงจิตวิทยา ทำให้ลูกหนี้การค้าตื่นตัว และรีบดำเนินการจ่ายเงินก่อนถึงวันที่กำหนด

6. ใช้วิธีหักลบกลบหนี้

สำหรับลูกหนี้การค้าที่มีการผิดนัดชำระหนี้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น อาจจะหมุนเงินไม่ทัน หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แล้วเป็นคู่ค้าที่ซื้อ หรือขายกันอยู่เป็นประจำ คุณอาจใช้วิธีหักลบกลบหนี้มาแก้ปัญหานี้ได้ เช่น ในการซื้อสินค้ารอบใหม่ ถ้าลูกค้าสั่งซื้อสินค้า 100 ชิ้น ก็จะหักค่าหนี้ค้างชำระออก 30 ชิ้น แล้วส่งให้ 70 ชิ้นแทน โดยที่คิดราคาเต็มเป็น 100 ชิ้น เป็นต้น

7. ขายหนี้การค้าให้กับสถาบันการเงิน หรือธนาคาร

เป็นอีกหนึ่งวิธีการบริหารลูกหนี้การค้าที่ได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน เพราะช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย หรือเงินทุนหมุนเวียนจนเกินไป สามารถรักษาสภาพคล่องของธุรกิจได้อยู่ โดยจะเป็นการขายบิล หรือขายใบแจ้งหนี้ ให้กับสถาบันการเงิน หรือธนาคาร แล้วจะได้รับเงินสดมาทันที เราเรียกบริการนี้ว่า “สินเชื่อแฟคตอริ่ง” (Factoring)

เลือกลูกหนี้การค้าอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

เลือกลูกหนี้การค้าอย่างไรไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ปัญหาหลักของลูกหนี้การค้ามีอยู่อย่างเดียวก็คือลูกค้าไม่ยอมจ่ายเงิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลูกหนี้ผิดชำระหนี้ในภายหลัง เราจึงต้องเลือกให้เครดิตกับลูกหนี้การค้าอย่างพิถีพิถัน เช่น

  • ตรวจสอบข้อมูล ประวัติ และชื่อเสียงของลูกค้า
  • ตรวจสอบความสามารถในการใช้หนี้จากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระยะเวลาดำเนินธุรกิจ ความสามารถทางการเงิน สภาพคล่อง หรือสภาพหนี้ของบริษัทลูกค้า
  • ตรวจสอบหลักประกันของบริษัทลูกค้า
  • ในกรณีที่เป็นลูกค้าเดิม เราอาจจะต้องตรวจดูรายงานวิเคราะห์อายุลูกหนี้การค้า ระยะการเก็บเงิน และสถิติการขายสินค้าให้กับลูกหนี้การค้าแต่ละรายด้วย

สำหรับลูกหนี้การค้าที่เป็นธุรกิจ SME นั้น หากเป็นนิติบุคคลจะสามารถตรวจสอบงบการเงินได้ที่เว็บไซต์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ แต่ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาจะตรวจสอบได้ยากกว่า เพราะจะไม่มีข้อมูลกลาง แต่อาจวิเคราะห์เครดิตจากประวัติของผู้ประกอบการ เป็นบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในบุคคลล้มละลายหรือไม่ กิจการที่ดำเนินอยู่เป็นอย่างไร หรือตรวจสอบจากบัตรประจำตัวประชาชนและทะเบียนบ้านก็ได้

IFS Capital ให้บริการรับซื้อลูกหนี้การค้า ให้วงเงินสูงสุด 90% ของใบวางบิล

IFS Capital ให้บริการรับซื้อลูกหนี้การค้า สินเชื่อแฟคเตอริ่งเพื่อธุรกิจ SME ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจประเภทเทรดเดอร์ (Trader) อุตสาหกรรมการผลิตต่าง ๆ อุตสาหกรรมด้านบริการ หรืองานโฆษณา ทั้งเพื่อการค้าในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ

เราพร้อมให้เงินสดล่วงหน้าเพื่อนำไปใช้หมุนเวียนธุรกิจ สูงสุด 90% ของใบวางบิล ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยใกล้เคียงกับธนาคาร อนุมัติไว ที่สำคัญยังช่วยจัดการเรื่องการรับชำระหนี้ตามใบวางบิล / ใบแจ้งหนี้จากลูกหนี้การค้าให้กับคุณ เพื่อการบริหารลูกหนี้การค้าที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถกรอกฟอร์มสมัครสินเชื่อแฟคตอริ่งกับเราได้เลย จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 24 ชั่วโมง

สรุปเรื่องการบริหารลูกหนี้การค้า

การบริหารลูกหนี้การค้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ลูกหนี้การค้าชำระหนี้ได้ตรงเวลามากที่สุด เป็นโจทย์ที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนให้ดี เพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท สามารถทำให้เกิดการขาดสภาพคล่อง และนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้มากมาย สำหรับผู้ประกอบการท่านใดที่ต้องทำธุรกิจแบบขายเชื่อ หรือบริการเชื่อ จำเป็นที่จะต้องให้เครดิตเทอมกับลูกค้า ก็สามารถลองนำวิธีบริหารลูกหนี้การค้าข้างต้นไปปรับใช้ดูก่อนได้ รับรองได้เลยว่าจะช่วยให้คุณจัดการหนี้การค้าได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน

Share the Post:

บทความที่เกี่ยวข้อง