Search
Close this search box.

เครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดในธุรกิจ SMEs ที่ผู้ประกอบการต้องรู้

เครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดในธุรกิจ SMEs ที่ผู้ประกอบการต้องรู้

เรียนรู้เครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดสำหรับธุรกิจ SMEs ที่สำคัญ เพื่อให้คุณทราบวิธีการจัดการเครดิตการค้าและให้ส่วนลดอย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดสำหรับธุรกิจ SMEs

ในปัจจุบันธุรกิจ SMEs เติบโตอย่างรวดเร็ว การเสริมสร้างฐานลูกค้าและการดูแลลูกค้าที่มีอยู่เป็นสิ่งสำคัญ ส่วนหนึ่งของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าคือการให้บริการเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดที่เหมาะสมแก่ลูกค้า

เครดิตการค้าคืออะไร ?

“เครดิตการค้า” หมายถึง สินเชื่อระยะสั้นที่ผู้ขายให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งมีเงื่อนไขเกี่ยวข้องกับการชำระเงิน โดยจะมีการกำหนดวันชำระเงินระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งระยะเวลาในการชำระเงินนั้นเรียกว่า “เครดิตเทอม” (Credit Term) การที่ผู้ประกอบการ SMEs ขอเครดิตการค้ากับคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์ หมายความว่าผู้ประกอบการจะได้รับวัตถุดิบหรือสินค้าต่างๆ ไปใช้ในการดำเนินธุรกิจของตนก่อน และจะชำระเงินในภายหลังในวันที่ตกลงกัน โดยมักเรียกว่า “การขอเครดิตเทอม” หรือ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง”

ระยะเวลาของเครดิตเทอม

เครดิตเทอม

เครดิตเทอม (Credit Term) มีระยะเวลาที่แตกต่างกันไป โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 7-180 วัน ระยะเวลาของเครดิตเทอมนั้นจะขึ้นอยู่กับความต้องการและประเภทธุรกิจ เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไป อาจจะอยู่ที่ประมาณ 7-15 วัน, ธุรกิจขนส่ง 30-60 วัน, ธุรกิจก่อสร้าง 90 วัน เป็นต้น ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและข้อตกลงระหว่างผู้ขายและผู้ซื้อ

เงื่อนไขส่วนลดคืออะไร?

ส่วนลดเงินสด

ส่วนลด (Discount)

คือ การที่ผู้ขายยอมลดราคาค่าสินค้าหรือบริการให้ผู้ซื้อ เพื่อจูงใจและกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการได้ง่ายขึ้น ในโลกธุรกิจการใช้เงื่อนไขส่วนลด (Discount Terms) เป็นกลยุทธ์ที่ใช้กันโดยทั่วไป เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยส่วนใหญ่ส่วนลดที่มักจะใช้ในการซื้อขายแล้วจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ส่วนลดการค้า (Trade Discount) และ ส่วนลดเงินสด (Cash Discount)

ส่วนลดการค้า (Trade Discount)

เป็นเครื่องมือการค้าที่นิยมใช้ในธุรกิจ เนื่องจากสภาพการแข่งขันที่สูงในปัจจุบัน ผู้ขายต้องการเพิ่มยอดขายและกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อหรือสนใจสินค้าตามราคาที่ตั้งไว้ (Pricelist) ของตนเอง ส่วนลดการค้านั้นสามารถอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ส่วนลดตามปริมาณการซื้อ, ส่วนลดสำหรับลูกค้าประจำ, หรือส่วนลดสำหรับการสั่งซื้อครั้งแรก โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและข้อตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย

ส่วนลดเงินสด (Cash Discount)

เป็นกลยุทธ์ที่ผู้ขายเสนอส่วนลดให้กับผู้ซื้อ เมื่อชำระด้วยเงินสดหรือชำระเงินในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งวัตถุประสงค์เพื่อให้ลูกค้าจ่ายเงินเร็วขึ้นเพื่อรักษากระแสเงินสด (Cashflow) ในธุรกิจของผู้ขาย โดยส่วนลดเงินสดจะสัมพันธ์กับ “เงื่อนไขการชำระเงิน (Terms of payments)” โดยมักจะระบุในเอกสารการค้า เช่น

  • ชำระทันที (Payment on Delivery): ลูกค้าจะต้องชำระเต็มจำนวนทันทีเมื่อได้รับสินค้าหรือบริการ
  • เครดิตสุทธิ (Net Terms): ลูกค้าจะต้องชำระเต็มจำนวนในวันที่กำหนดเครดิต โดยไม่มีส่วนลดเงินสด
  • เงื่อนไข 2/10, n/30 หมายถึง หากลูกค้าชำระเงินภายในระยะเวลา 10 วัน จะได้รับส่วนลดเงินสด 2% จากยอดเงินที่ค้างชำระ แต่หากไม่ชำระภายในเวลา 10 วัน จะต้องชำระเต็มจำนวนภายใน 30 วัน
  • เงื่อนไข 1/15, n/60 หมายถึง หากลูกค้าชำระเงินภายในระยะเวลา 15 วัน จะได้รับส่วนลดเงินสด 1% จากยอดเงินที่ค้างชำระ แต่หากไม่ชำระภายในเวลา 15 วัน จะต้องชำระเต็มจำนวนภายใน 60 วัน

การจัดการเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดในธุรกิจ SME

สำหรับธุรกิจ SMEs การจัดการเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะมีผลต่อกระแสเงินสดในธุรกิจ (Cashflow) และความเสี่ยงทางการเงินของธุรกิจ เพื่อให้สามารถจัดการเครดิตการค้าและนำเงินสดกลับมาใช้ในธุรกิจ อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ประกอบการควรพิจารณาเรื่องต่างๆ ดังนี้

  • วิเคราะห์เครดิตของลูกค้า ก่อนที่จะให้เครดิตการค้ากับลูกค้า ควรพิจารณาคุณสมบัติของลูกค้าให้ดี ว่ามีความสามารถในการชำระหนี้มากน้อยเพียงใด ผู้ประกอบการรับความเสี่ยงได้แค่ไหน หากกรณีลูกหนี้ไม่สามารถชำระเงินได้
  • ตรวจสอบเงื่อนไขเครดิต แน่นอนว่าการให้เครดิตการค้าจะมาพร้อมกับเงื่อนไข ควรพิจารณาเงื่อนไขที่เหมาะสมกับธุรกิจของคุณและคู่ค้าแต่ละราย เช่น ระยะเวลาเครดิตเทอม วิธีการชำระเงิน เงื่อนไขการส่งสินค้า เป็นต้น
  • บริหารจัดการส่วนลด หากคุณให้ส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเครดิตการค้า ควรระมัดระวังในการจัดการส่วนลดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับกระแสเงินสดของธุรกิจ
  • ตรวจสอบการชำระเงิน ควรมีกระบวนการตรวจสอบการชำระเงินตามเครดิตเทอม (Credit Term)ของลูกค้าเพื่อให้แน่ใจว่าคู่ค้าชำระเงินตามระยะเวลาที่กำหนด
  • การติดตามหนี้การค้า หากมีหนี้การค้าที่ค้างชำระ ควรมีการติดตามและการจัดการเพื่อให้สามารถรับเงินคืนได้อย่างมีประสิทธิภาพและรักษาความสัมพันธ์กับคู่ค้า
  • ระบบบัญชี ควรต้องมีระบบบัญชีที่ชัดเจนและทันสมัยเพื่อบันทึกข้อมูลเรื่องเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดให้ถูกต้องและเป็นระบบ
  • การสื่อสาร การสื่อสารกับคู่ค้าเกี่ยวกับเงื่อนไขเครดิตและส่วนลดเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความขัดแย้งและเพิ่มความโปร่งใสในการทำธุรกิจ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้า

วิธีใช้เครดิตเทอมและเงื่อนไขส่วนลดเพื่อสร้างโอกาสในธุรกิจ

  • วางแผนการใช้เครดิตเทอมให้เหมาะสม การวางแผนการใช้เครดิตเทอม (Credit Term) ให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อคุณต้องการที่จะใช้เครดิตการค้าเพื่อขยายธุรกิจ ผู้ประกอบการควรพิจารณาจากต้นทุนการซื้อวัตถุดิบ ระยะเวลาในการขายสินค้าหรือบริการ รวมถึงระยะเวลาในการจ่ายชำระเงินแก่ซัพพลายเยอร์ เพื่อคำนวณระยะเวลาการหมุนของกระแสเงินสด และสามารถพยากรณ์การใช้เงินล่วงหน้าในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทำความเข้าใจเงื่อนไขส่วนลด ก่อนที่จะใช้เครดิตเทอม ผู้ประกอบการควรพิจารณาเงื่อนไขส่วนลดอย่างถี่ถ้วน ปรึกษากับทีมงานหรือผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้คุณเข้าใจข้อกำหนดและเงื่อนไขที่มีผลต่อการใช้เครดิตเทอม ซึ่งจะช่วยให้คุณปรับแผนการใช้เครดิตเพื่อเติบโตและขยายธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างความน่าเชื่อถือในธุรกิจ ในแต่ละครั้งที่คุณใช้เครดิตเทอม เป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความน่าเชื่อถือทางธุรกิจแก่คู่ค้า เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจของคุณในหลายๆ ด้าน

สรุป

การจัดการเครดิตการค้าและเงื่อนไขส่วนลดในธุรกิจ SMEs เป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนและเหมาะสม รวมถึงการวัดผลเพื่อปรับปรุงแนวทางในการให้ส่วนลดให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

Share the Post:

บทความที่เกี่ยวข้อง