“เศรษฐกิจแย่จังเลย” “ขายของไม่ดีเลยทำยังไงดี” คำถามเหล่านี้คงอยู่ในใจผู้ประกอบการหลายต่อหลายคน ทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ เพราะภาวะเศรษฐกิจนั้นมักจะไม่แน่นอน หากเราต้องพบกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เราจะทำอย่างไรดี เราจะประคับประคองธุรกิจอย่างไรยามเศรษฐกิจไม่ดี มีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะช่วยธุรกิจของเราให้เติบโตได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ลองอ่านบทความนี้
1.ลงทุนน้อย ให้ได้กำไรมาก
“การลงทุนน้อย ให้ได้กำไรมากๆ” นั้นเป็นศิลปะของการทำธุรกิจ วิธีการเหล่านี้มีมานานตั้งแต่อดีตสมัยโบราณมาแล้ว มาถึงยุคปัจจุบันการทำตลาดด้วยการลงทุนน้อยๆ แต่ให้ได้ผลมากๆ เช่น “การทำตลาดผ่าน Social Network” เพราะในปัจจุบันตัวเลขของผู้บริโภคที่หันมาใช้โทรศัพท์มือถือ Smart Phone หรืออุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ต่างๆ เริ่มมีปริมาณมากขึ้น ทำให้การทำตลาดต้นทุนสูงๆ ในระบบเดิมๆ อาจจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ ถ้าหากผู้ประกอบการทำได้ “ถูกจุด ถูกทาง” ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล และทำให้สามารถเพิ่มยอดสินค้าและบริการของเราได้แม้ในยามที่เศรษฐกิจฝืดเคือง
2.ปรับปรุงคุณภาพสินค้าอย่างสม่ำเสมอ
ในยามที่เศรษฐกิจดี เจริญรุ่งเรือง ผู้ประกอบการอาจต้องใช้เวลาแทบจะทั้งหมดไปกับการผลิตสินค้าให้ทันความต้องการของลูกค้า แต่ในภาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ เวลาที่ใช้ในการผลิตลดลง ก็จะเปิดอีกโอกาสหนึ่งให้ผู้ประกอบการได้หันมาพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพสินค้า ปรับปรุงระบบการผลิตให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ เพราะภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจะมาถึงเราไม่วันใดก็วันหนึ่ง แทนที่ผู้ประกอบการจะเครียดกับยอดขายที่ปรับตัวลง ควรใช้เวลาหันมาปรับปรุงสินค้าและบริการของเราให้ดีอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหาตลาดใหม่เสมอ และ เมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาดีดังเดิม โอกาสจะเปิดกว้างขึ้นกว่าเดิม และนี่ก็คืออีกหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการทำธุรกิจได้ทุกช่วงเวลา
3.ขายให้ถูกช่วงเวลา
ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ บางครั้งการขายสินค้าที่ไม่เหมาะกับกาลเวลา ไม่เหมาะกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลาก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจของเรา “สะดุด” อาทิ หากเกิดสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ผู้ประกอบการอาจจะหันมาทำสินค้าประเภท “ประหยัดเงินในกระเป๋าของลูกค้า” มากขึ้น และลดสินค้าประเภทฟุ่มเฟือยลง เพื่อให้เข้ากับภาวะโดยภาพรวม และหากเศรษฐกิจกลับมาดีอีกครั้ง เราก็สามารถปรับเปลี่ยนในทิศทางที่เหมาะกับช่วงเวลานั้นๆ ได้อย่างเหมาะสม
4.สงบ สยบความเคลื่อนไหว
กลยุทธ์นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่มีมาอย่างช้านานเช่นกัน เมื่อเกิดสภาวะที่ไม่ดี ตลาดฝืดเคือง การขยับขยายอะไรเกินตัวก็อาจทำให้กิจการถึงขั้นหายนะได้ บางทีการอยู่นิ่งๆ เพื่อให้พายุผ่านไปก็เป็นอีกกลยุทธ์ที่ดี ความอดทน หรือการสงบ สยบความเคลื่อนไหว ถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่ดีและไม่ควรมองข้ามยามจำเป็น
5.สะสมกำลังเสบียงให้พร้อม
ผู้ประกอบการ บางที่ก็ไม่มีทางรู้ได้ว่า “เศรษฐกิจฝืดเคืองจะกลับมาเมื่อไร” แต่การเตรียมพร้อม เก็บเสบียงคลังไว้ใช้ยามฉุกเฉินนั้นจะช่วย “ผ่อนหนักให้เป็นเบา” เสบียงคลังดังกล่าว ได้แก่ กำไรสะสม เครดิตการค้า หรือแม้แต่ทรัพยากรมนุษย์ (กำลังพล) ก็ถือเป็นสิ่งที่เราต้องเตรียมให้พร้อมเสมอ
6.การวิจัย และพัฒนา
ธุรกิจใดที่หยุดนิ่งเท่ากับธุรกิจนั้นเริ่มนับถอยหลัง การวิจัยและพัฒนาจะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงเวลาปกติ และช่วงเวลาที่มีวิกฤตเศรษฐกิจ ผู้ประกอบการที่ดีไม่ควรหยุดนิ่ง ควรหมั่นทำการวิจัยและพัฒนาสินค้าและบริการให้ดีอย่างสม่ำเสมอ
7.กระชับความสัมพันธ์กับลูกค้า
ยิ่งเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เรายิ่งต้องใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น แม้ในยามที่ลูกค้าอาจไม่มีกำลังจับจ่ายสินค้าของเรา แต่หากเราหมั่นคอยดูแลและกระชับความสัมพันธ์กับลูกค้าอย่างเสมอต้นเสมอปลาย เมื่อใดที่เศรษฐกิจกลับมาดีลูกค้าก็จะกลับมาหาเรา นึกถึงเราก่อนคู่แข่งนั่นเอง
8.เตรียมตัวให้พร้อมทุกสถานการณ์
กลยุทธ์สุดท้ายคือ “การรวมเอาทุกกลยุทธ์ข้างต้นเข้าด้วยกัน” ทั้งการดูแลความสัมพันธ์ระหว่างธุรกิจกับลูกค้า การเตรียมเสบียงให้พร้อม การวิจัยและพัฒนา การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะกับสภาพที่เป็นไปของเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม “เตรียมตัวพร้อมสำหรับทุกสถานการณ์” ไม่พลาดพลั้งยามเกิดวิกฤต และสามารถคว้าโอกาสได้ยามที่ทุกอย่างกลับมาดีดังเดิมอีกครั้งได้
ที่มา : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม